จากความห่างไกลบ้านเกิดของคนไทยที่เดินทางไปตั้งถิ่นฐานในต่างประเทศ ทำให้เกิดความ ต้องการศูนย์รวมจิตใจโดยเฉพาะ “พระพุทธศาสนา” คนไทยเหล่านั้นจึงนิมนต์พระสงฆ์จากประเทศ ไทยรวมทั้งได้จัดตั้งศูนย์พระพุทธศาสนาขึ้นในชุมชนคนไทยในต่างประเทศ อาทิ เมืองลอสแองเจลิส เมืองวอชิงตัน ดี.ซี. เมืองนิวยอร์ก และเมืองชิคาโก้ โดยมีคณะกรรมการสงฆ์เป็นผู้ดูแล ทำให้คนไทย ได้มีโอกาสทำบุญและใกล้ชิดกับพระพุทธศาสนามากยิ่งขึ้น

      ในปี พ.ศ. ๒๕๑๗ เจ้าอาวาสและคนไทยในต่างประเทศ มีความเห็นสอดคล้องกันในการ เปลี่ยนศูนย์พระพุทธศาสนาให้เป็นวัดไทย เริ่มต้นที่เมืองชิคาโก้เป็นแห่งแรก โดยมีการจดทะเบียน เปลี่ยนจากศูนย์พระพุทธศาสนาแห่งเมืองชิคาโก้ เป็นวัดธัมมาราม ชิคาโก้ โดยมีพระราชรัตนาภรณ์ (ปัจจุบันคือ พระพรหมวชิรญาณ เจ้าอาวาสวัดยานนาวา) เป็นเจ้าอาวาสรูปแรกของวัดไทยใน ต่างประเทศ ส่งผลให้มีการเปลี่ยนศูนย์พระพุทธศาสนาแห่งอื่นเป็นวัดไทยในเวลาต่อมา ซึ่งวัดไทยใน สหรัฐอเมริกาบางแห่งได้ทำการเปิดสอนภาษาไทยและวัฒนธรรมไทยให้กับเยาวชนด้วย

      ต่อมาในปีพ.ศ. ๒๕๒๗ คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดตั้งโครงการสอน ภาษาไทยและวัฒนธรรมไทยในต่างประเทศ ตามที่พระเทพโสภณ (หลวงเตี่ย) (ต่อมาคือ พระธรรม ราชานุวัตร อดีตรองเจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม) ประธานกรรมการวัดไทยลอสแองเจลิส ขอความร่วมมือมายังคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้จัดการเรียนการสอนภาษาไทยและ วัฒนธรรมไทยแก่เยาวชนไทยในสหรัฐอเมริกา เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ภาษาและวัฒนธรรมไทยของ เยาวชนอย่างต่อเนื่องในช่วงภาคฤดูร้อน เพิ่มเติมจากเดิมที่โรงเรียนสอนพุทธศาสนาและภาษาไทย วัดไทยลอสแองเจลิส เปิดสอนเฉพาะวันอาทิตย์เท่านั้น ความดังปรากฏในสัมโมทนียกถาของพระเทพ โสภณ (หลวงเตี่ย) เกี่ยวกับประวัติความเป็นมาการจัดการเรียนการสอนภาษาไทยของวัดไทย ลอสแองเจลิส ที่ว่า

“...เมื่อข้าพเจ้า (หลวงเตี่ย) เดินทางมารับตำแหน่งหัวหน้าสงฆ์ เมื่อวันที่ ๒๔ มกราคม ๒๕๒๒ นั้น ยังเป็นช่วงที่มิได้มีการเรียนการสอนโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ ต่อเมื่อการก่อสร้างอุโบสถศาลาชั้นบนสำเร็จลุล่วงไป มีสถานที่พอที่นักเรียนจะมาเรียน ได้แล้ว จึงได้เปิดดำเนินการขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง ในปี พ.ศ. ๒๕๒๓ ในการดำเนินการ คราวนี้ ได้อาศัยผู้มีศรัทธาหลายท่านเป็นกำลังอันสำคัญ โดยได้มอบให้คุณโอภาส เครือ โสภณ เป็นผู้อำนวยการ อย่างไรก็ตามตลอดเวลาที่การเรียนการสอนดำเนินอยู่นั้น ครู ก็ดี ผู้ปกครองก็ดีมีความคิด เป็นอันเดียวกันอย่างหนึ่งก็คือ การเรียนของเด็กๆ ไม่ ก้าวหน้า ผู้ปกครองอยากเห็นลูกๆ อ่านหนังสือไทยออก พูดภาษาไทยได้ ครูเองก็ อยากจะสอนนักเรียนให้คืบหน้าต่อไป แต่ก็เป็นไปได้ยาก เพราะเด็กๆ เหล่านี้มีเวลาการ เรียนภาษาไทย เพียงสัปดาห์ละ ๒ ชั่วโมง นอกนั้นเด็กอยู่กับสิ่งแวดล้อมที่บ้าน พบอุปสรรคที่พอจะสรุปได้ ๒ ประการ คือ ตำราเรียน และเวลาเรียน

ในปี พ.ศ. ๒๕๒๕ จึงได้ขอครูสังกัดกรุงเทพมหานคร ๒ ท่านมาท าการทดลองสอนเป็น ปีแรก มีนักเรียนมาสมัคร ๒๖ คน กำหนดเวลาเรียน ๔ วัน คือ วันอังคารถึงวันศุกร์ เรียนวันละ ๕ ชั่วโมง ปรากฏว่าเด็กๆ ที่เรียนในภาคฤดูร้อน ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ เด็กมี ความเข้าใจภาษาไทยมากขึ้น มีความสนิทสนมกับครูเป็นอย่างดี ผู้ปกครองเองก็พอใจ ปีพ.ศ. ๒๕๒๖ มีการเปิดการสอนขึ้นมาอีก แต่ในปีนี้ไม่ได้ขอครูมาจากประเทศไทย ได้ ครูอาสาสมัครที่นี่เอง ซึ่งปรากฏผลเป็นที่น่าพอใจเช่นปีที่แล้ว แต่เราก็ยังไม่สามารถ แก้ไขปัญหาเกี่ยวกับตำราเรียนได้ บังเอิญว่าข้าพเจ้าได้ปรารภปัญหานี้กับกลุ่มนักจัด รายการ “สนทนาปัญหาบ้านเมือง” ทางทีวีช่อง ๙ อันมีอาจารย์ดุสิต ศิริวรรณ ดร.สุรพล สุดารา เป็นต้น ซึ่งเดินทางมาอเมริกาในช่วงนั้นและพักอยู่ที่วัดไทยนี้ ความ ข้อนี้ทราบไปถึงคณะครุศาสตร์ จุฬา ลงกรณ์มหาวิทยาลัย รองศาสตราจารย์ ประภาศรี สีหอำไพ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ไขสิริ ปราโมช ณ อยุธยา ได้เขียน จดหมายอาสาสมัครมาศึกษาและทำการสอนที่นี่ ข้าพเจ้าดีใจที่เรื่องราวซึ่งเราคิดไว้ ...เพราะคณะครุศาสตร์นั้นจัดว่าเป็นหน่วยงานที่จัดงานด้านการศึกษามาโดยเฉพาะ ถ้าครุศาสตร์มาช่วยเราได้ หนทางข้างหน้าย่อมมีแต่ความแจ่มใส ...

เมื่อข้าพเจ้าเดินทางกลับกรุงเทพฯ พบกับคณะของอาจารย์ประภาศรี พร้อมกับ อาจารย์ผู้ใหญ่อีกท่านหนึ่ง คือ ศาสตราจารย์สุมน อมรวิวัฒน์ทั้ง ๒ ท่านนี้ เป็นผู้ที่ ข้าพเจ้าได้ยินชื่อเสียงมานานและมีความคุ้นเคยเป็นส่วนตัวกับบิดาของท่าน คือ พันโท ประเสริฐ สุดบรรทัด อดีตส.ส.สระบุรี และเคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวง คมนาคมมาก่อน เมื่อเราปรึกษาหารือกันแล้ว จึงทำเรื่องเป็นทางราชการคือ ขอให้คณะ ครุศาสตร์เป็นเจ้าของโครงการนี้ ขณะเดียวกันข้าพเจ้ามีข้อแม้ว่า ให้เชิญครูจากสังกัด กรุงเทพมหานครด้วย เพราะได้เคยตกลงด้วยวาจากับรองผู้ว่ากรุงเทพมหานครฝ่าย การศึกษาในขณะนั้นไว้ แต่ก็มอบสิทธิให้ทางคณะครุศาสตร์ เป็นผู้คัดเลือกคณะครูมา สอน...”

 

 

      คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงได้จัดส่ง ศาสตราจารย์สุมน อมรวิวัฒน์ เป็น หัวหน้าคณะ ครูอาสาสมัครไปปฏิบัติงานสอนและทำวิจัย เรื่อง “รูปแบบหลักสูตรระยะสั้นและการ จัดกิจกรรมบูรณาการเพื่อการสอนภาษาไทยและวัฒนธรรมไทยแก่นักเรียนโรงเรียนวัดไทย ลอสแองเจลิส” โดยได้รับการสนับสนุนค่าเดินทางและทุนการทำวิจัยจาก พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ

มีผู้ร่วมโครงการ จำนวน ๖ คน ได้แก่

๑) ศาสตราจารย์สุมน อมรวิวัฒน์ (ปัจจุบันคือ ศาสตราจารย์กิตติคุณสุมน อมรวิวัฒน์)

๒) รองศาสตราจารย์ประภาศรี สีหอำไพ (ปัจจุบันคือ ศาสตราจารย์ประภาศรี สีหอำไพ)

๓) รองศาสตราจารย์ไขสิริ ปราโมช ณ อยุธยา

๔) รองศาสตราจารย์ ดร.ทิศนา แขมมณี

และข้าราชการกรุงเทพมหานคร ๒ คน คือ

๕) อาจารย์สาหร่าย แตงนาวา (ปัจจุบันคือรองศาสตราจารย์ ดร. สิริพัชร์ เจษฎาวิโรจน์)

๖) อาจารย์วรวรรณ ทวีศิลป์

     

      โครงการสอนและวิจัยดังกล่าวประสบความสำเร็จอย่างดียิ่ง ผู้ปกครองสนใจนำเยาวชนมาเรียนภาษาไทยและวัฒนธรรมไทยภาคฤดูร้อนจำนวนมาก

 

      ปี พ.ศ. ๒๕๒๘ พระราชรัตนาภรณ์ วัดธัมมาราม ชิคาโก (ปัจจุบันคือ พระพรหมวชิรญาณ  เจ้าอาวาสวัดยานนาวา)  ได้ขอความร่วมมือให้คณะครุศาสตร์ ไปจัดอบรมครูอาสาสมัครโรงเรียน   วัดไทยในสหรัฐอเมริกาที่วัดธัมมาราม โดยมีศาสตราจารย์อำไพ สุจริตกุล นำคณะประกอบด้วย ศาสตราจารย์สุมน อมรวิวัฒน์ ศาสตราจารย์ประภาศรี สีหอำไพ รองศาสตราจารย์ ดร.ทิศนา      แขมมณี และรองศาสตราจารย์วรนันท์ อักษรพงศ์ เดินทางไปจัดประชุมเชิงปฏิบัติการอบรมครูอาสาสมัครทั่วสหรัฐอเมริกา ในความอุปถัมภ์ของพระราชรัตนาภรณ์ (ประสิทธิ์ เขมังกโร) และความอนุเคราะห์ค่าเดินทางจากพลเอกอาทิตย์ กำลังเอก จัดขึ้นที่วัดธัมมาราม นครชิคาโก ต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๓๑ โครงการสอนภาษาไทยและวัฒนธรรมไทย ได้ขยายหน่วยจัดการศึกษาเพิ่มขึ้นที่        วัดวชิรธรรมปทีป นิวยอร์ค วัดพุทธานุสรณ์ ฟรีมอนท์  และ วัดพุทธธรรม ชิคาโก รวมเป็น ๕ แห่ง

      ในปี พ.ศ. ๒๕๒๙ ศาสตราจารย์สุมน อมรวิวัฒน์ ได้ริเริ่มดำเนินการติดต่อประสานงานกับกรมการศึกษานอกโรงเรียน กระทรวงศึกษาธิการ ให้มีหน่วยจัดการศึกษานอกโรงเรียนประเภทบุคคลภายนอกในต่างประเทศ เพื่อให้เยาวชนไทยและประชาชนไทยในสหรัฐอเมริกาได้มีโอกาสสอบเทียบความรู้ภาษาไทย กรมการศึกษานอกโรงเรียน จึงขอให้คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นหน่วยจัดการศึกษานอกโรงเรียนประเภทบุคคลภายนอกในต่างประเทศนับแต่นั้นมา

(ภาพประกอบสถาปัตยกรรมวัดโพธิ์จาก photosforyou-124319 )